Medtang

Custom Search

วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ยาหยอดตา ยาป้ายตา รูปแบบใดใช้ก่อน/หลัง

ในบางกรณีผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องได้รับผลิตภัณฑ์ยาตาสำหรับการรักษาใน 2 รูปแบบ คือ ได้รับทั้งยาหยอดตาและยาป้ายตาในเวลาเดียวกัน 

จึงทำให้เกิดคำถามตามมาว่าแล้วอย่างนี้เวลาใช้จะเลือกยารูปแบบไหนมาใช้ก่อนดี

 คำตอบคือ ถ้าได้รับยาหยอดตาและยาป้ายตาที่ต้องใช้ในเวลาเดียวกัน ให้ใช้ยาหยอดตาก่อนยาป้ายตาเสมอ โดยเว้นระยะห่างของการใช้ประมาณ 10 นาที 

หลักการง่าย ๆ ยาป้ายตามักเป็นขี้ผึ้ง อย่างที่เราเคยเห็นคือ หากหยดน้ำลงไปในตำแหน่งที่ทาขี้ผึ้ง น้ำจะกลิ้งออกไป ไม่สามารถซึมผ่านขี้ผึ้ง หากป้ายตาก่อน ขี้ผึ้งก็จะไปเคลือบลูกตา หยอดยาตาลงไป ก็มักจะไหลออกมาทางหางตาหมด เหมือนน้ำกลิ้งบนใบบัว

ยาหยอด 2 ขนานจะรู้ได้อย่างไรว่าต้องหยอดขวดไหนก่อน

ในการหยอดยาหยอดตาหลายๆชนิด อันที่จริงแล้วจะหยอดชนิดไหนก่อนก็ได้แต่ควรหยอดห่างกัน 5 นาที

 ยกเว้นในกรณีที่หยอดยาตาร่วมกับน้ำตาเทียม ควรหยอดยาชนิดอื่นก่อนน้ำตาเทียม เนื่องจากน้ำตาเทียมอาจลดประสิทธิภาพของยาที่ใช้ร่วมได้

 อย่างไรก็ตามหากได้ยาหยอดมา 2 ขวด ให้สอบถามแพทย์ เภสัชกร ว่าควรหยอดขวดใดก่อน เพราะบางขวดอาจเป็นยาขยายม่านตา หากหยอดก่อนอาจทำให้รู้สึกเบลอ เมื่อต้องหยอดยาตาอีกขวด

ยาป้ายตา ต้องป้ายยาวเท่าไร

การใช้ยาป้ายตาคล้ายกับการหยอด โดยให้ดึงหนังตาล่างลง บีบยาออกจากหลอดยาวประมาณครึ่งถึงหนึ่งเซนติเมตร ป้ายลงไปในกระพุ้งหนังตาล่าง ระวังอย่าให้ปลายหลอดยาแตะลูกตา หลับตา แล้วคลึงหนังตาเบา ๆหรือกรอกลูกตาไปมา เพื่อให้ยากระจายทั่วลูกตาแล้ว หลับตานิ่ง ๆ สักครู่ ถ้ายาเปื้อนภายนอกลูกตาให้ใช้สำลีหรือผ้าสะอาดเช็ดทิ้งไป

หยอดยา 1-2 หยด หยอดเกินเป็นอะไรไหม และหยอดอย่างไร

ควรใช้ยาในปริมาณตามที่แพทย์สั่ง เนื่องจากตัวยาบางชนิด เช่น ยาที่ใช้ลดความดันในตา การหยอดเกินคำสั่งแพทย์อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้


การหยอดยาหยอดตาที่ถูกต้อง

1. ล้างมือให้สะอาด เช็ดหรือปล่อยให้แห้ง

2. นำยาหยอดตาออกมาจากตู้เย็น กำขวดยาหยอดตาไว้ในมือเพื่อให้ยาอุ่นขึ้น เขย่าขวดเบา ๆ

3. เปิดขวดยาหยอดตา ซึ่งปัจจุบันมักมีที่หยดสำเร็จรูป ใช้มือข้างที่ถนัดถือขวดยาหยอดตา

4. นอน หรือนั่งแหงนหน้าไปด้านหลังเล็กน้อย ใช้นิ้วชี้ของมืออีกข้างวางตำแหน่งใต้ตา และดึงเปลือกตาล่างลงมาเล็กน้อยให้เป็นกระพุ้ง

5. บีบขวดยาตา หรือบีบหลอดหยด ให้หยดยาตามแพทย์สั่งโดยมากมักเป็น 1-2 หยด ตำแหน่งที่หยอดคือหยอดลงในหนังตาด้านในที่สีแดงๆ เวลาหยอดกะให้หยดน้ำยาตกลงมา ระหว่างหยอดต้องระวังอย่าให้ปลายของหลอดยาหยอดตาไปแตะโดนหนังตาหรือขนตา เพราะจะพาเชื้อโรคเข้าไปปนเปื้อนได้ ระวังอย่าหยอดลงบนดวงตาโดยตรง เพราะบางคนอาจจะตกใจและเจ็บได้

6. หลับตา อาจใช้สำลีสะอาดเช็ดบริเวณหางตาที่น้ำยาส่วนที่เกินไหลออกมา

7. เอียงศีรษะในท่าเดิมสักครู่

8. นอน หรือนั่งพักและหลับตาประมาณ 2-3 นาที

9. ในขณะนั้น ให้ปิดขวดยาตา หรือวานคนอื่นช่วยปิด

10. ยาที่เกินอาจไหลผ่านท่อน้ำตาลงสู่ลำคอ ทำให้รับรู้รสขมได้ ไม่ต้องตกใจ
 

หยอดยาตาแล้วไหลออก จะหยอดเพิ่มได้ไหม อย่างไร

ไม่จำเป็นต้องหยอดเพิ่ม เนื่องจากกระพุ้งของหนังตา รับยาหยอดตาได้เพียงครั้งละ 1-2 หยด ส่วนที่เกินจึงอาจจะไหลออกมา

ยาหยอดตา ต้องใช้จนหมดขวดหรือไม่

มีทั้งจำเป็นและไม่จำเป็น อย่างไรก็ตามยาหยอดตาหลังเปิดใช้แล้วต้องเก็บไว้ในตู้เย็นที่ชั้นวางปกติ อุณหภูมิประมาณ 2-8 องศาเซลซียส หากใช้ไม่หมดภายใน 1 เดือนให้ทิ้ง แม้ว่ายาจะยังเหลืออยู่ก็ตาม เนื่องจากยาหยอดตาแม้เป็นยาใช้ภายนอก แต่กระบวนการผลิตเน้นปราศจากเชื้อ การเก็บไม่เกิน 1 เดือนก็เนื่องจากกลัวการปนเปื้อนจากการหยอด แล้วส่งผลให้มีการเจริญเติบโตของเชื้อในน้ำยาหยอดตาได้ คงเคยได้ยินข่าวการติดเชื้อที่ตาหลังการผ่าตัด ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับน้ำเกลือที่ใช้ทำความสะอาดดวงตาขณะผ่าตัดอาจไม่ปราศจากเชื้อ เพราะฉะนั้นความสะอาดของยาที่ใช้กับดวงตาจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ยาหยอดตาที่ได้มาบางครั้งอาจไม่จาเป็นต้องหยอดต่อเนื่องจนยาหมด เช่น ยาหยอดตาสาหรับอาการระคายเคือง คันตา หรือตาอักเสบจากการติดเชื้อที่ไม่รุนแรง โดยระยะเวลาในการใช้ยาหยอดตานั้นจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์และชนิดของยา เนื่องจากยาหยอดตาบางชนิดที่ใช้ระงับอาการระคายเคือง หากใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ต้อหินหรือต้อกระจก เป็นต้น แต่ก็มียาหยอดตาหลายชนิดที่ต้องใช้ต่อเนื่องจนหมดขวด และต้องใช้เป็นประจำ เช่นยาหยอดเพื่อลดความดันตา เป็นต้น ซึ่งยาหยอดที่ต้องใช้ต่อเนื่อง 1 ขวด มักใช้หมดภายใน 1 เดือน

วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ยาที่เท/ตวงมาเกิน สามารถเทกลับได้หรือไม่

วิธีการที่จะลดหรือป้องกันปัญหาดังกล่าว ประการแรกขึ้นกับการเลือกอุปกรณ์ตวงยาที่สอดคล้องกับขนาดที่ต้องการ ประการต่อมา ช้อนชาหรือถ้วยตวงต้องสะอาด ประการที่สาม ค่อย ๆรินยา หากเท หรือตวงยามาเกินในขั้นตอนนี้สามารถที่จะริน/เทกลับได้ การดูดยาโดยใช้กระบอกจุ่มลงในขวดยา จะมองปริมาตรลำบาก จุ่มตื้นจุ่มลึกเท่าใด และหากดูดขึ้นดูดลง ก็เป็นความเสี่ยงต่อการปนเปื้อน ดังนั้นจึงมักพบมีการแบ่งยาออกมาใส่ถ้วยตวงเพื่อใช้กระบอกดูดยา ก็ควรแบ่งมาตามปริมาตรหรือขนาดยาที่ต้องการแล้วใช้กระบอกดูดยาจากถ้วยแบ่ง ที่เหลือไม่ควรเทกลับในขวดยา ให้ทิ้งยา หลีกเลี่ยงการเทกลับลงไปในขวดเพราะอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนและมีผลต่อความคงตัวของยาได้ แม้ว่าภาชนะที่ใช้ตวงจะมีการทำความสะอาดแล้ว สำหรับหลอดหยดที่ติดมากับยาน้ำสำหรับเด็กบางขนาน ใช้ดูดและหยดยาเมื่อต้องการ หลีกเลี่ยงการใช้หลอดหยดนั้นดูดยา หยอดยาใส่ปากเด็ก และนำมาปิดขวดแทนฝายาที่มีแต่เดิมเพราะเป็นการปนเปื้อน

ยาน้ำที่ขม ผสมน้ำหวานได้หรือไม่ และผสมอย่างไร

โดยทั่วไปแล้วยาน้ำสำหรับรับประทาน หากมีรสขมมักมีการกลบรสมาจากบริษัท แต่บ่อยครั้งก็พบว่าก็ยังคงมีรสขมมาก เนื่องจากหากใช้น้ำเชื่อมปริมาณมาก ยาอาจไม่พอละลายเช่น พาราเซตะมอลน้ำเชื่อม หรือยาบางชนิดก็ใช้น้ำเชื่อมแต่งรสไม่ได้ เพราะอาจไม่คงตัว เช่น ยาน้ำโอเซลทามิเวียร์ ที่ใช้รักษาไข้หวัด 2009 อย่างไรก็ตามในการป้อนยา หากยาน้ำมีรสขม สามารถผสมน้ำหวานเพื่อกลบรสได้ ทั้งนี้ต้องระวังขนาดยาที่ให้ด้วยต้องเป็นไปตามที่สั่ง ห้ามหักลบจากน้ำหวานที่จะเติม เช่นหากต้องให้ครั้งละ 1 ช้อนชา และใช้ช้อนชาในการป้อนยา ก็จะไม่สามารถเติมน้ำหวานได้เพราะจะล้นออก ให้แบ่งป้อนยาครั้งละครึ่งช้อนชาและผสมน้ำหวานลงไปเล็กน้อยแต่ไม่ให้เกินช้อนชา และไม่ควรผสมน้ำหวานลงไปในขวดยาเลยเพราะอาจมีผลต่อความคงตัว และการปนเปื้อนได้ การผสมน้ำเชื่อมในยาน้ำแม้ว่าไม่บ่อย แต่ก็เป็นการสร้างนิสัยติดรสหวานของเด็กได้เช่นกัน ผู้ปกครองจึงอาจต้องใช้วิธีการอื่น ๆ เข้ามาช่วยให้เด็กรับประทานยาได้

จะป้อนยาเด็กอย่างไรดี เพื่อไม่ให้สาลัก และบางครั้งเด็กก็มักจะบ้วน

     ท่าทีที่ผู้ปกครองปฏิบัติต่อลูกในการให้ยาครั้งแรก ๆ น่าจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เด็กรับประทานยายากหรือง่าย เด็กหลายคนจึงมักดิ้น และส่ายหน้าหนี หรือมือปัดยาจนหก ป้อนยาแต่ละครั้งเหมือนเป็นมหกรรมที่ต้องเกณฑ์คนทั้งบ้านมาช่วยยึด ช่วยกด ล็อกมือ การป้อนครั้งต่อ ๆ ไปเด็กก็น่าจะปฏิเสธเพราะฝังใจ หรือดูเหมือนการลงโทษ
     สำหรับเด็กเล็ก การที่แม่อุ้มโอบ ภายใต้วงแขน หรือวางหนุนตัก แล้วสบสายตา พูดคุย ทำท่าทางให้เด็กอ้าปาก หรือใช้นิ้วดึงเบาๆ บริเวณคาง ก็อาจช่วยเพิ่มความร่วมมือ จากนั้นดูดยาตามปริมาตรที่แพทย์สั่ง ใช้ปลายหลอดหยด หรือกระบอกสำหรับหยอดยา (ไซรินจ์) แตะบริเวณมุมปาก กดริมฝีปากล่างลงเล็กน้อย สอดหลอดหรือกระบอกยาเข้าไป ค่อย ๆ หยอดยาให้ไหลผ่านไปทางกระพุ้งแก้ม กรณีที่ขนาดยามีปริมาณมากกว่า 2-3 มิลลิลิตร อย่าดันยาจนหมดในครั้งเดียว เพราะเด็กมีปริมาณการกลืนที่จำกัด อาจบ้วนออก หากใช้ช้อนก็ใช้ปลายช้อนกดริมฝีปากล่างลงเบา ๆ กระดกปลายช้อนขึ้น เพื่อให้ยารินไหลลงไป หากเป็นเด็กโต คงไม่เป็นปัญหาหากสามารถรับประทานได้ในท่านั่ง หรือหากนอนอยู่อาจช้อนหัวขึ้นเล็กน้อย หรือยกขึ้นหนุนตักก็ได้ เพื่อไม่ให้สำลัก ห้ามให้รับประทานยาในขณะนอนราบ และเมื่อป้อนยาแล้ว ควรให้น้ำตามเล็กน้อย เพื่อชะล้างยาที่ติดอยู่ และเหมือนเป็นการทำความสะอาดช่องปาก

วิธีดูปริมาตรของกระบอก(ฉีด)ยา จะดูที่ขอบบน หรือขอบล่าง

วิธีดูปริมาตรของกระบอก(ฉีด)ยา จะดูที่ขอบบน หรือขอบล่าง 

กระบอกยาสำหรับยารับประทาน เพื่อตวงยาน้ำสำหรับหยอดยาให้เด็ก อาจสงสัยว่าจะดูปริมาตรอย่างไร เพราะลูกสูบจะมีความหนาเมื่อมองด้านข้างจะเป็นสองแนว บนและล่าง เหตุที่ทำเช่นนั้นเพื่อให้ลูกสูบมีความแข็งแรง เวลาดันจะไม่เกิดการไหลย้อนหรือรั่วลงด้านล่าง 

การดูปริมาตรให้จับกระบอกหยอดยาตั้งตรง ส่วนปลายหลอดอยู่ด้านบน และอ่านขีดบอกปริมาตรที่ขอบบน ว่าตรงกับขีดบอกปริมาตรเท่าไร สำหรับด้านบนลูกสูบอาจมีลักษณะนูนเหมือนปิระมิด เป็นการออกแบบเพื่อให้แนบสนิทกับส่วนคอของกระบอกเวลาที่ดันยาสุด เพื่อให้ได้ปริมาณตัวยาตามที่ต้องการ


วิธีอ่านปริมาตรกระบอกยา (ไซริง)

ข้อควรระวังสาหรับถ้วยตวงที่ติดมากับยา

เนื่องจากถ้วยตวงยาที่ติดมากับกล่องของยาแต่ละชนิด จะมีปริมาตรไม่เท่ากัน และบางครั้งตัวเลขและขีดแบ่งปริมาตรยาบนถ้วยตวงยาอาจใสมาก ทำให้ตวงยาได้ยาก รวมทั้งช้อนป้อนยาบางอย่างด้ามจับจะเป็นทรงกระบอกภายในกลวงใช้ตวงยาโดยมีขีดบอกปริมาตร ดังนั้นจึงต้องสังเกตตัวเลขว่าแบ่งขีดอย่างไร และควรตรวจสอบปริมาตรให้พอดีกับที่ฉลากระบุไว้ก่อนกินยาทุกครั้ง

ถ้วยตวงที่ติดมากับกล่อง เท่ากับช้อนชาหรือไม่

สำหรับ 1 ช้อนชามาตรฐาน จะเท่ากับ 5 มิลลิลิตร หรือ 5 ซีซี ซึ่งอาจมีปริมาตรเท่าหรือไม่เท่ากับถ้วยตวงที่ติดมากับกล่องก็ได้ โดยถ้วยตวงที่ติดมากับกล่อง หรือยาที่ได้รับนั้นจะมีปริมาตรแตกต่างไปตามแต่ละบริษัทผู้ผลิตยา และจะมีขีดตัวเลขบอกปริมาตรอยู่ที่ข้างถ้วยตวงชัดเจน เช่น 2.5, 5, 10 หรือ 30 มิลลิลิตร ซึ่งควรตรวจสอบปริมาตรให้ดีก่อนกินยาทุกครั้ง ยาผงรับประทานชนิดเติมน้ำบางชนิด ถ้วยที่ให้มาบางครั้งจะเป็นถ้วยสำหรับการตวงน้ำเพื่อละลายผงยา อย่าใช้ปะปนกัน และแถมอีกนิดว่า 1 ช้อนโต๊ะนั้นมีปริมาตรเท่ากับ 3 ช้อนชาคือ 15 มิลลิลิตร


ถ้วยตวงและช้อนชา ช้อนโต๊ะ ที่มากับภาชนะ

ป้อนยาเด็ก สามารถใช้ช้อนกินข้าวแทนได้ไหม

ไม่ว่าจะเป็นช้อนที่ใช้สำหรับกินข้าว ช้อนกลาง หรือช้อนชาสำหรับชงกาแฟนั้นไม่ควรจะนำมาใช้ตวงยา เนื่องจากช้อนแต่ละอันจะมีขนาดไม่เท่ากัน บางครั้งช้อนชาที่ใช้ชงกาแฟก็อาจมีขนาดเพียงแค่ครึ่งช้อนชามาตรฐาน หรืออาจมีขนาดใหญ่เท่ากับ 2 ช้อนชามาตรฐานก็ได้ ยิ่งถ้าเป็นช้อนแสตนเลสสำหรับรับประทานข้าวแล้วอาจมีขนาดมากเท่ากับ 3 ช้อนชา ซึ่งจะมีผลให้ได้รับยาน้อยเกินไป ทำให้รักษาโรคหรืออาการไม่หาย หรืออาจมีผลให้ได้รับยามากเกินขนาด และเกิดอันตรายได้ ดังนั้นควรใช้อุปกรณ์ที่ติดมากับยา หรือได้รับจากโรงพยาบาล คลินิกหรือร้านยาเท่านั้น เพื่อให้ได้การรักษาที่ได้ผล และปลอดภัย


ช้อนชามาตรฐาน (5 มิลลิลิตร) (หมายเหตุ: สังเกตขีดภายในช้อนชาระบุว่าครึ่งช้อนชา)

วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

หลอดหยดต้องดูดจนเต็มหลอดหรือไม่

หลอดหยดยาที่ติดมาภายในกล่องนั้น จะมีปริมาตรแตกต่างกันไปตามแต่ละบริษัทผู้ผลิต โดยจะมีขีดบอกปริมาตรที่ละเอียด ตั้งแต่ 0.1 ไปถึง 1 มิลลิลิตร และมีตัวเลขกำกับชัดเจน เช่น ที่ตำแหน่ง 0.2, 0.4, 0.8 หรือ 1 มิลลิลิตร ดังนั้นการดูดยาขึ้นมาจนเต็มหลอด อาจทำให้ได้รับยาในปริมาณที่มากกว่าที่ต้องการ และเกิดอันตรายได้ สำหรับวิธีการตวงยาด้วยหลอดหยดยานั้น ต้องบีบที่หัวยาง หรือด้านบนของหลอดหยดยาเพื่อไล่อากาศ บีบค้างไว้ จากนั้นจุ่มหลอดหยดลงในยา ค่อยๆ ปล่อยหัวยางที่บีบ เพื่อให้ยาถูกดูดขึ้นมาตามหลอดหยดยาจนได้ปริมาตรที่กำหนดตามขนาดยาที่ต้องได้รับ และขนาดยา 1 มิลลิลิตรก็จะมีขีดบอกไม่ใช่ดูดจนเต็มหลอดหรือล้นเข้าไปในหัวยาง ถ้าเกินก็บีบออกให้ได้ปริมาตรที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ควรสังเกตตัวเลขว่าแบ่งขีดอย่างไร และดูขีดให้ดีก่อนดูดยาทุกครั้งก่อนป้อนยา เพื่อป้องกันไม่ให้ดูดยามาก หรือน้อยเกินไป เมื่อดูดยาแล้วหรือหลังป้อนยาให้ปิดขวดยาด้วยจุกเดิม สำหรับหลอดหยดเมื่อดูดยาและป้อนยาแล้ว ควรล้างทำความสะอาด เนื่องจากอาจเปื้อนน้ำลาย และกันมดขึ้น โดยดูดน้ำเข้าและบีบออก เช็ดให้แห้งและวางผึ่งในภาชนะสะอาด เช่นแก้วเปล่า

 

วันพุธที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ยาอมใต้ลิ้น กลืนแทนได้ไหม ห้ามกลืนน้าลายด้วยหรือไม่

การบริหารยาอมใต้ลิ้นห้ามเคี้ยว หรือกลืนเม็ดยาทั้งเม็ดลงไปในกระเพาะอาหาร แต่จะใช้วิธีการปล่อยให้ยาค่อยๆ ละลายและดูดซึมเข้าสู่เส้นเลือดใต้ลิ้นจนหมด และไม่ควรกลืนหรือบ้วนน้ำลายทิ้ง ทั้งนี้เนื่องจากต้องการให้ยาดูดซึมผ่านเข้าสู่เส้นเลือดใต้ลิ้นและออกฤทธิ์ได้อย่างรวดเร็วและมากที่สุด การกลืนน้ำลายจะทำให้ยาที่จะดูดซึมเข้าสู่เส้นเลือดใต้ลิ้นลดน้อยลงซึ่งอาจทำให้การใช้ยาไม่ได้ผล เมื่อวางยาใต้ลิ้นเพื่อลดการกระตุ้นน้ำลาย ให้ทำปากนิ่ง ไม่ควรขยับปาก หรือเคลื่อนไหวลิ้นไปมา ตัวอย่างยาอมใต้ลิ้น เช่น ยาอมใต้ลิ้นไอโสซอร์ไบด์ ไดไนเตรต ขนาด 5 มิลลิกรัมที่ใช้รักษาอาการเจ็บหน้าอกเฉียบพลันจากภาวะเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งเป็นภาวะที่ต้องการการรักษาอย่างเร่งด่วน เมื่ออมยาใต้ลิ้นยาที่ละลายจะถูกดูดซึมเข้าสู่เส้นเลือดใต้ลิ้นและไปยังหัวใจโดยตรงจึงทำให้ยาออกฤทธิ์ได้อย่างรวดเร็ว แต่ถ้ากลืนยาทั้งเม็ดจะต้องใช้เวลานานกว่าที่ยาจะไปยังเส้นเลือดหัวใจ เพราะยาต้องผ่านกระบวนการดูดซึม และหลังจากการดูดซึมก็ต้องส่งผ่านกระบวนการอีกหลายขั้นตอนก่อนที่ยาจะถูกส่งไปยังตำแหน่งที่ออกฤทธิ์


ยาอมใต้ลิ้นดังกล่าว เมื่ออมใต้ลิ้นจะรู้สึกซ่าเล็กน้อย แต่หากมีอาการรุนแรง เช่น ปวดหัว หน้าแดง มึนงง ใจสั่น หรือหน้ามืดเมื่อเปลี่ยนท่าทาง เวียนศรีษะ สับสน ให้แจ้งแพทย์

จากฉลากจะเห็นเครื่องหมายสามเหลี่ยม และระบุว่าต้องติดตาม ยารายการใดที่มีเครื่องหมายดังกล่าวจะต้องสังเกตตนเอง ว่าภายหลังรับประทานยาแล้วเกิดอาการผิดปกติหรือไม่ หากเกิดอาการดังกล่าวให้กับไปโรงพยาบาลแจ้งแพทย์ เภสัชกร เพื่อแก้ไข เภสัชกรจะรายงานไปสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเพื่อเป็นข้อมูลความปลอดภัย

ยาอมใต้ลิ้นต้องวางตาแหน่งไหน เปลี่ยนเป็นอมข้างแก้มได้หรือไม่

ยาอมใต้ลิ้นวิธีการใช้ที่ถูกต้อง คือ การบริหารยาโดยกระดกลิ้นขึ้น และวางไว้ใต้ลิ้นแล้วปล่อยให้ตัวยาค่อยๆ ละลายและดูดซึมเข้าสู่เส้นเลือดใต้ลิ้นจนหมด แต่ในบางรายหากมีความจำเป็นหรือไม่สามารถอมใต้ลิ้นได้อาจใช้วิธีการอมไว้ข้างกระพุ้งแก้ม แต่อย่างไรก็ตามจากหลักฐานทางวิชาการพบว่าการอมใต้ลิ้นจะมีอัตราการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้เร็วกว่า ดังนั้นหากเป็นยาอมใต้ลิ้นที่ต้องใช้ในภาวะฉุกเฉินและต้องการการออกฤทธิ์ที่รวดเร็วจึงแนะนำให้บริหารยาโดยการอมใต้ลิ้น

ก่อนติดแผ่นแปะต้องโกนขนก่อนหรือไม่

หลักการใช้แผ่นแปะควรแปะในตำแหน่งที่ไม่มีขน เช่นบริเวณต้นแขนด้านนอก บริเวณหลังส่วนบน เอว หน้าท้อง และหน้าขาส่วนต้น แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้และต้องแปะในบริเวณที่มีขนจริงๆ ไม่ควรใช้วิธีโกนขน แต่ให้ใช้วิธีการเล็มขนทิ้งเพราะการโกนขนอาจทำให้เกิดบาดแผลได้ ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณการดูดซึมยาเกิดขึ้นมากกว่าปกติและอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองบาดแผลที่เกิดจากการโกนได้ เมื่อแปะให้กดหรือลูบให้ทั่วประมาณ 30 วินาที เพื่อมั่นใจว่าแผ่นแปะนั้นติดผิวหนังดี ในกรณีที่มีคราบพลาสเตอร์น่าเกลียดก็อาจใช้น้ำมันทาตัวเด็ก ทาออกได้