Medtang

Custom Search

วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2554

โรคประจำตัว มีผลต่อยาที่ต้องใช้อย่างไร

ทุกครั้งที่ท่านมารับบริการจากสถานพยาบาลหรือร้านยา มักจะเจอคำถาม “มีโรคประจำตัวหรือไม่” เหตุที่ต้องสอบถามเรื่องโรคประจำตัวนั้น เนื่องจากยาบางชนิดมีผลทำให้โรคประจำตัวกำเริบ เช่น ในคนที่เป็นหอบหืด แล้วได้รับยาลดความดันกลุ่มยาต้านเบต้า เช่น โพรพาโนลอล ซึ่งมีฤทธิ์ปิดกั้นหลอดลม จึงทำให้อาการหอบหืดกำเริบได้ หรือแม้แต่การได้รับยาแอสไพริน ก็มีรายงานว่าทำให้หอบหืด กำเริบเช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นข้อห้ามใช้ของยากลุ่มนี้ในคนที่เป็นหอบหืด แพทย์จะเปลี่ยนไปเลือกใช้ยากลุ่มอื่นที่ไม่มีผลต่อการหดตัวของหลอดลม หรือคนที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร หากได้รับยาแก้อักเสบกล้ามเนื้อ หรือยาแก้ปวดข้อ ปวดกระดูก หลายขนาน ซึ่งยามีผลข้างเคียงทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ก็อาจทำให้โรคกระเพาะอาหารกำเริบ มีอาการปวดท้องเพิ่มขึ้น หรือเป็นเรื้อรังได้ หรือหากป่วยเป็นโรคไต การได้รับยาต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น อาจต้องเลี่ยง หรือปรับลดขนาด หรือต้องมีการติดตามความปลอดภัยอย่างชัดเจน เช่นผู้ป่วยโรคไต อาจเกิดอันตรายจากการฉีดสารทึบรังสีได้ง่ายกว่าผู้ป่วยทั่วไปที่มีโรคไต เป็นต้น

หากใช้ยาชุด จะต้องขอข้อมูลผู้ขายหรือไม่ อย่างไร

การไปซื้อยาชุด โดยเฉพาะยาชุดแก้ปวดเมื่อย (ส่วนใหญ่มักจะประกอบด้วยยาหลายชนิดเช่น ยาแก้อักเสบกล้ามเนื้อ ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยาพวกสเตียรอยด์) มารับประทานเองนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ป่วยควรขอข้อมูลชื่อยาจากผู้ขาย (คงไม่ใช่เภสัชกร) เนื่องจากหากผู้ป่วยมีอาการแพ้ยาเกิดขึ้นหลังจากรับประทานยาชุดเหล่านั้นไปแล้ว เมื่อผู้ป่วยไปพบแพทย์หรือเภสัชกรพร้อมกับข้อมูลชื่อยาที่เป็นส่วนประกอบในยาชุดก็จะทำให้สามารถระบุได้ว่ายาใดน่าจะเป็นสาเหตุของการแพ้ยาดังกล่าว แต่เชื่อเถอะครับ ร้อยทั้งร้อยไม่ได้ขอ และขอก็ไม่ได้ ในทางกลับกันหากไม่มีข้อมูลใดเลยทราบแต่เพียงว่าผู้ป่วยรับประทานยาชุด แพทย์หรือเภสัชกรก็จะไม่สามารถระบุหรือแม้แต่จะสงสัยว่ายาใดที่เป็นสาเหตุของการแพ้ ก็แค่รักษาตามอาการไป ให้คำเตือน แต่วันดีคืนดีผู้ป่วยไปซื้อยาชุดมารับประทานอีก (อาจเป็นร้านใหม่หรือร้านเดิม) แล้วในยาชุดนั้นมียาตัวหนึ่งที่ผู้ป่วยแพ้แต่เราไม่ทราบในครั้งแรก ผู้ป่วยก็จะเกิดการแพ้ยาซ้ำซึ่งมักจะรุนแรงกว่าการแพ้ยาในครั้งแรกอาจถึงชีวิตได้ ขายยาชุดที่มีสเตียรอยด์ผิดกฎหมายนะครับ สามารถแจ้งตำรวจหรือกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคเอาผิดผู้ขายได้


ดังนั้นข้อเสนอแนะคือ หลีกเลี่ยงการหาซื้อยาชุดมารับประทาน เพราะว่าจะได้รับยาที่ไม่จำเป็น ไม่เกี่ยวข้องกับโรคหรืออาการโดยตรงปนเปเข้ามา ที่สำคัญคือมักมีการใส่ยาพวกสเตียรอยด์ ซึ่งมีชื่อว่า เพรดนิโซโลน และเด๊กซ่าเมธาโซน ยากลุ่มนี้เป็นยาบดบังอาการ รับประทานระยะแรก ๆ อาจรู้สึกดี แต่เป็นยาที่มีความเป็นพิษสูง เช่น กระเพาะอาหารทะลุ กระดูกผุ บวมน้ำ เกิดการสะสมของไขมัน โดยเฉพาะบริเวณต้นคอ น้ำตาลในเลือดสูง เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค โรคจิต หวาดระแวง เพิ่มความดันลูกตา ทำให้เป็นต้อหิน ต้อกระจก และหากใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจทำให้ตาบอดได้เช่นกัน เป็นต้น วิธีป้องกันง่าย ๆ คือเข้าร้านยาเมื่อใด เรียกหาเภสัชกร บอกเล่าอาการที่มาในวันนี้ ระบุว่าไม่ต้องการยาชุด และหากเคยแพ้ยา แพ้อาหารอะไรต้องแจ้ง หากไม่เข้าใจควรซักถามข้อมูลเพื่อความกระจ่าง

“ยาชุดทุกประเภท ล้วนก่อเหตุรุนแรง

โทษร้ายที่แอบแฝง เหมือนแมลงชอนไช

เริ่มจากหวาดวิตก ราวนรกหมกไหม้

กระดูกผุก่อนวัย หัวใจเหมือนรัวกลอง

ทั้งเสี่ยงต่อเบาหวาน หน้าบานใหญ่กว่าจ้อง

ต้อหินยิ่งหินกอง เลือดนองกระเพาะผุ

อาจแพ้จนถึงตาย ผิวกายก็เกรียมคุ

ใครขายจับเข้ากรุ ล่วงลุชดใช้กรรม”

แพ้ยาเกิดจากความบกพร่องของโรงพยาบาลหรือไม่

มีความแตกต่างกันเกี่ยวกับความหมายของคำ 2 คำด้วยกัน คือ การแพ้ยาและอาการข้างเคียงของยา ซึ่งการแพ้ยาเช่น ช็อค หมดสติเฉียบพลัน แพ้ยาทางผิวหนังรุนแรงที่เรียกว่า กลุ่มอาการสตีเวนส์ จอห์นสัน เป็นต้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยที่เราไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่ามันจะเกิด กรณีนี้จะไม่เกี่ยวของกับกลไกการออกฤทธิ์ของยาโดยตรง ส่วนอาการข้างเคียงจากยานั้นเป็นสิ่งที่สามารถคาดการณ์ได้ว่าอาจจะเกิดเนื่องจากเราทราบว่ายาจะไปมีผลต่ออะไรบ้าง หรือไปทำงานอย่างไร หรือกล่าวได้ว่ามีความสัมพันธ์กับกลไกการออกฤทธิ์ของยา เช่น ง่วงนอนจากยาแก้แพ้/ยาทางจิตเวช ใจสั่น ไอ มึนงงจากยาลดความดัน เบื่ออาหาร คลื่นใส้ จากยาหลายรายการ เป็นต้น เพราะฉะนั้นในกรณีที่ผู้ป่วยมีการแพ้ยาเกิดขึ้นในครั้งแรกมันก็เป็นสิ่งที่เราไม่ได้จงใจให้มันเกิดขึ้น ไม่มีใครทราบเลยว่ายาตัวนี้ถ้าใครรับประทานเข้าไปแล้วจะมีอาการแพ้เกิดขึ้น ทั้งนี้ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีการตอบสนองต่อยานั้นๆ แตกต่างกันเพราะฉะนั้นในการแพ้ยาครั้งแรกจึงถือว่าไม่ใช่ความผิดหรือความบกพร่องของโรงพยาบาล ในขณะเดียวกันหากผู้ป่วยมีประวัติเคยแพ้ยามาก่อนและโรงพยาบาลก็มีข้อมูลการแพ้ยาของผู้ป่วยอยู่แล้ว หากมีการสั่งใช้ยาดังกล่าวแล้วเกิดการแพ้เกิดขึ้น จะเรียกว่าแพ้ยาซ้ำ อันนี้ถือว่าเป็นความคลาดเคลื่อนหรือบกพร่องของโรงพยาบาล อย่างไรก็ตามในกรณีที่ผู้ป่วยมีประวัติแพ้ยามาก่อน ไม่ได้เป็นผู้รับบริการเดิม เมื่อมารับบริการก็ไม่ได้แจ้งให้ทางโรงพยาบาลทราบ เมื่อมีการใช้ยาดังกล่าว แล้วเกิดการแพ้ซ้ำขึ้น ก็ต้องนับว่าโรงพยาบาลอาจปฏิบัติงานคลาดเคลื่อนที่ไม่มีการสอบถามผู้ป่วยทุกครั้งที่มารับบริการ และเช่นเดียวกันผู้รับบริการเองก็ไม่ได้ตระหนักถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจึงไม่ได้แจ้งทางโรงพยาบาล อันนี้ก็คงต้องว่าไปตามข้อมูลแต่ละครั้ง เห็นด้วยแล้วใช่ไหมครับว่า เมื่อไปรับบริการด้านการรักษาพยาบาล ไม่ว่าที่ใดก็ตาม ควรนำบัตรแพ้ยาติดตัวไปด้วย พร้อมกับแจ้งแพทย์ทุกครั้งด้วยหากสามารถทำได้ เพราะพึงระลึกเสมอว่า “แพ้ยาซ้ำ อาจตายได้”

ทำไม ต้องถามเรื่องแพ้ยาทุกครั้ง

เรื่องแพ้ยา บ่อยครั้งเป็นเรื่องที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ และหากผู้ป่วยเคยได้รับยาขนานใด ขนานหนึ่งแล้วแพ้รุนแรง เป็นผลให้ต้องกลับมารับการรักษาในโรงพยาบาล หากได้รับยาดังกล่าวซ้ำเข้าไปเมื่อรับการรักษาในครั้งใหม่ อาจทำให้เกิดอันตรายจนถึงตายได้ บุคลากรการแพทย์จึงจำเป็นที่จะต้องถามเรื่องแพ้ยาทุกครั้ง เพราะกลัวการแพ้ยาซ้ำ และหากจำไม่ได้ ควรนำบัตรแพ้ยาติดตัว ใส่ในกระเป๋าเงิน หรือสิ่งที่ถือเป็นประจำ เพื่อเป็นการส่งต่อข้อมูลให้บุคลากรการแพทย์ มีบางรายไปโรงพยาบาลในขณะที่ไม่รู้สึกตัว แพทย์มีความจำเป็นที่ต้องให้ยาปฏิชีวนะ ปรากฎว่าผู้ป่วยเกิดการแพ้ยาดังกล่าวซ้ำ เนื่องจากบุคลากรการแพทย์ไม่ได้รับข้อมูล หรือไม่สามารถเข้าถึงข้อมูล การพกบัตรติดตัว ก็อาจเป็นการส่งต่อข้อมูลให้หมอได้ เพื่อความปลอดภัยตนเอง ดังนั้นคราวนี้ถ้าแพทย์ เภสัชกร หรือพยาบาลสอบถามว่าเคยแพ้ยาอะไร เราก็จะได้ตอบอย่างไม่หงุดหงิดว่า แพ้ยาหรือไม่แพ้ยา เพราะคุณหมอเหล่านั้นคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเรานั่นเอง

หากมีคำเตือนว่า อาจเป็นพิษต่อตับและไต หมายความว่าอย่างไร

กรณีที่ยานั้นมีคำเตือนว่าอาจเป็นพิษต่อตับและไต นั้นหมายถึง ยาตัวนั้นเมื่อรับประทานเข้าไปแล้วอาจมีพิษต่อตับหรือไต แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นในผู้ป่วยทุกรายที่มีการใช้ยาเหล่านั้น และยาเหล่านั้นหากพิจารณาเปรียบเทียบแล้วพบว่ามีผลดีจากยามากกว่าผลเสียที่จะเกิดขึ้น ก็อาจจำเป็นต้องพิจารณาใช้ (แพทย์และเภสัชกรจะเป็นผู้พิจารณา) และอาจมีการสั่งตรวจการทำหน้าที่ของตับ และไต เพื่อติดตามความปลอดภัย 

อย่างไรก็ตามการใช้ยาเหล่านั้นอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นพิษต่อตับหรือไตในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่องเช่น ไตวายเรื้อรัง หรือตับมีการถูกทำลายอยู่แล้วเช่นผู้ป่วยที่มีภาวะตับแข็งจากการดื่มสุราหรือเป็นไวรัสตับอักเสบ ก็จะต้องระมัดระวังการใช้ยาเป็นพิเศษโดยอาจจะมีการปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วย 

ดังนั้นผู้ป่วยควรแจ้งประวัติการเป็นโรคประจำตัวให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทุกครั้ง

อาการแพ้อาหารจะเป็นอย่างไร เหมือนการแพ้ยาหรือไม่

การแพ้ไม่ว่าจะแพ้อะไร ก็จะปรากฏอาการไม่แตกต่างกัน ขึ้นกับการตอบสนองของร่างกายและประเภทของสารเคมี การแพ้อาหาร และยา ก็ล้วนเป็นสิ่งที่ร่างกายเกิดปฏิกริยาตอบสนองต่อสารเคมีในอาหารและยา ถ้าเป็นสารเคมีเดียวกัน ในคนเดียวกัน อาการแพ้ย่อมไม่ต่างกัน และไม่จำเป็นว่าจะเกิดกับอวัยวะใด อวัยวะหนึ่ง เช่น
ปาก: เริ่มตั้งแต่ปากคัน ร้อน ริมฝีปากหรือลิ้นบวม
ผิวหนัง: เกิดลมพิษ ผื่นคัน บวมบริเวณใบหน้า แขนขา
กระเพาะอาหาร: คลื่นไส้ ตะคริวบริเวณท้อง อาเจียน อุจจาระร่วง
ลำคอ: คอตีบ ระคาย คันคอยิบ ๆ หรือไอ
ปอด: หายใจสั้น ๆ ไอซ้ำๆ มีเสียงหวีด
หัวใจ: ชีพจรอ่อน ความดันโลหิตต่ำ เป็นลม ซีด หรือตัวเขียวคล้ำ
ดังนั้นหากรับประทานยา แล้วเกิดอาการที่ผิดปกติ ให้ลองหาสาเหตุว่ามีปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมด้วยหรือไม่ แต่หากพบว่าน่าจะเกิดจากยา ให้โทรปรึกษาแพทย์ เภสัชกร หรือโทรไปที่สถานพยาบาลที่รักษา เพื่อขอคำแนะนำ แต่หากอาการรุนแรงให้รีบนำส่งโรงพยาบาล

ข้อคิด ควรมีหมายเลขโทรศัพท์โรงพยาบาลที่รักษา หรือหน่วยบริการข้อมูลยา

หากแพ้ยาฆ่าเชื้อที่มีไอโอดีน จะรับประทานเกลือที่มีไอโอดีนได้หรือไม่

ยาฆ่าเชื้อที่ใช้ทาบริเวณโดยรอบของแผล หรือทำความสะอาดผิวหนังก่อนการผ่าตัด เช่น เบตาดีน จะเป็นสารละลายของยาที่เรียกว่า โพวิโดน ไอโอดีน หากทายาดังกล่าวแล้วเกิดอาการแพ้ เช่น ผื่นคัน เป็นตุ่มน้ำใส ก็อาจบอกได้ว่าแพ้ยาฆ่าเชื้อดังกล่าว แต่ไม่สามารถสรุปได้ว่าแพ้ไอโอดีนโดยตรง มีการศึกษาหนึ่งรายงานว่าในผู้ป่วย 10 ราย ที่แพ้ยาฆ่าเชื้อโพวิโดน ไอโอดีน มีเพียงรายเดียวที่ยืนยันโดยการทดสอบทางผิวหนังว่าเป็นการแพ้ไอโอดีนจริง นอกนั้นแพ้ส่วนประกอบที่เป็นสารละลาย/ตัวยา และยังไม่เคยมีรายงานชัดเจนมาก่อนว่ามีผู้ที่แพ้เกลือที่มีการเติมไอโอไดด์ลงไป ดังนั้นผู้ที่แพ้ยาฆ่าเชื้อโพวิโดน ไอโอดีน จึงสามารถที่จะรับประทานเกลือไอโอดีนที่มีขายกันได้

ถ้าแพ้ไอโอดีน อาการจะต่างจากแพ้อาหารทะเล อย่างไร

การแพ้ไอโอดีนพบได้น้อยอาจมีตั้งแต่คลื่นไส้จนถึงหายใจลำบาก และภาวะ ช็อคเฉียบพลัน โดยมากมักเกิดในขั้นตอนของการฉีดสารทึบแสงทีมีไอโอดีนเป็นองค์ประกอบ ในการถ่ายภาพรังสี อย่างไรก็ตามก็มีข้อมูลว่าการแพ้สารทึบรังสีไม่น่าจะเกิดจากการแพ้สารไอโอดีนโดยตรง แต่เป็นการแพ้ส่วนประกอบอื่น ๆ เช่นเกลือ หรือสีที่มีไอโอดีนเป็นองค์ประกอบ แต่เป็นการยากที่จะระบุ บุคลากรการแพทย์จึงมักให้ข้อมูลผู้ป่วยว่าแพ้ไอโอดีน และเตือนห้ามรับประทานอาหารทะเล ซึ่งไม่น่าจะเกี่ยวข้องอีกเช่นกัน การแพ้สารทึบรังสีที่มีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบ พบอุบัติการณ์ไม่แตกต่างกันกับการแพ้สารทึบรังสีที่ไม่มีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบ สำหรับผู้ที่แพ้อาหารทะเลมักแพ้สารที่อยู่ในเปลือกกุ้ง เช่น ไคติน หรือโปรตีนในเนื้อปลา ไม่เกี่ยวข้องกับการแพ้ไอโอดีน แม้ว่าในปลา หรืออาหารทะเลจะเป็นแหล่งอาหารที่ให้ไอโอดีนสูงก็ตาม เคยมีการศึกษาพบว่า ผู้ที่แพ้อาหารทะเล มีแนวโน้มที่จะแพ้ ไอโอดีนมากกว่าคนทั่วไปร้อยละ 5 แต่ก็มีข้อมูลอีกว่าไม่ว่าจะแพ้อะไร ก็มักมีความเสี่ยงที่จะแพ้สารอื่น ๆ มากกว่าคนทั่วไปที่ไม่แพ้ อย่างไรก็ตามมักมีคำเตือนว่าผู้ที่แพ้อาหารทะเลหากต้องได้รับการฉีดสารทึบรังสี ควรแจ้งแพทย์ก่อน เพื่อเพิ่มความระมัดระวัง หรืออาจจำเป็นต้องทดสอบว่าแพ้หรือไม่ กล่าวโดยสรุป อาการแพ้ไอโอดีนจริง ๆ ปัจจุบันก็ยังยืนยันว่าพบได้น้อยมาก มักเป็นการแพ้ส่วนประกอบอื่น ๆที่มีไอโอดีน แต่ไม่ได้แพ้โมเลกุลไอโอดีนเดี่ยว ๆ และการแพ้ไอโอดีน ก็ไม่เกี่ยวข้องกับการแพ้อาหารทะเล หรือผู้ที่แพ้อาหารทะเล ก็ไม่เกี่ยวข้องกับการที่จะแพ้ไอโอดีน

ถ้าแพ้อาหารทะเล จะแพ้ยาอะไรไหม

การแพ้อาหารทะเล เช่น กุ้ง ปู กั้ง หอย เกิดจากแพ้โปรตีนจากเปลือกสัตว์เหล่านั้น หรือโปรตีนที่อยู่ในเนื้อ ไม่ได้เกิดจากการแพ้ธาตุไอโอดีน การแพ้อาหารทะเลยังรวมความถึงการแพ้ปลาทะเลด้วย ซึ่งผู้ที่แพ้อาหารดังกล่าวเมื่อเกิดขึ้นครั้งหนึ่งควรหาสาเหตุให้ได้ว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับอาหารประเภทใด ผู้ที่แพ้อาหารทะเลประเภทปลา ก็ไม่เกี่ยวข้องกับแพ้อาหารทะเลประเภทกุ้ง ปู หอย เพราะอาจแพ้โปรตีนในกล้ามเนื้อที่ต่างประเภทกัน หรือแพ้โปรตีนในเปลือกกุ้ง ซึ่งก็ไม่พบในเนื้อปลา หรืออาจแพ้ทั้งสองประเภทร่วมกันได้ ปัจจุบันพบว่าผู้รับบริการที่มาโรงพยาบาลมีการรายงานการแพ้อาหารทะเลเพิ่มมากขึ้น และมีพบว่าเกิดการแพ้ซ้ำขึ้น สำหรับผู้ที่แพ้อาหารทะเลจึงควรระวังการใช้ยาที่ผลิตจากเปลือกของสัตว์ทะเลที่เป็นสาเหตุของการแพ้ เช่น ยากลูโคซามีน ซึ่งเป็นยารักษาข้อเข่าเสื่อม ช่วยเพิ่มน้ำในไขข้อ สกัดมาจากเปลือกสัตว์ทะเล จำพวก กุ้ง ปู จึงควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ที่แพ้อาหารทะเล หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ ที่มักมีส่วนประกอบของเปลือกสัตว์ทะเล เช่น มีส่วนประกอบของไคโตซานซึ่งเป็นสารโพลิเมอร์ชีวภาพที่สกัดจากไคติน เป็นโครงสร้างของเปลือกกุ้ง กระดองปู แกนปลาหมึก เป็นต้น ในกรณีหลังค่อนข้างเป็นปัญหาเพราะปัจจุบันมีการนำไคโตซานมาใช้กว้างขวางในหลายอุตสาหกรรม ในด้านการแพทย์มีการใช้ในการห้ามเลือด พลาสเตอร์ หรือเป็นอาหารเสริมสำหรับผู้ที่ต้องการ “ดักจับไขมัน” ในร่างกายเพื่อลดคอเลสเตอรอล หรือใช้ในทางเกษตร เช่น เร่งการเติบโตในพืช สัตว์ ใช้เคลือบผลไม้เพื่อยืดอายุการเก็บ หรือแม้แต่ในเครื่องสำอาง อย่างไรก็ตามข้อมูลผู้ที่แพ้อาหารทะเล หากใช้หรือเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ ไคติน-ไคโตซานจะเกิดอาการไม่พึงประสงค์ตามมาหรือไม่ ยังไม่มีการรายงานชัดเจน แต่อย่างที่กล่าวข้างต้นว่าการแพ้อาหารทะเลไม่ได้เกิดจากการแพ้ไอโอดีน ดังนั้นยาบางตัวที่มีไอโอดีนผสมอยู่ คนที่แพ้อาหารทะเลสามารถใช้ได้ เช่น ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ (อะมิโอดาโรน) ยารักษาไทรอยด์เป็นพิษแบบรุนแรง (โพแทสเซียม ไอโอไดด์) หรือสารทึบรังสี ที่มักใช้ในการตรวจทางรังสีวิทยา