Medtang

Custom Search

วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2554

แพ้ยาเกิดจากความบกพร่องของโรงพยาบาลหรือไม่

มีความแตกต่างกันเกี่ยวกับความหมายของคำ 2 คำด้วยกัน คือ การแพ้ยาและอาการข้างเคียงของยา ซึ่งการแพ้ยาเช่น ช็อค หมดสติเฉียบพลัน แพ้ยาทางผิวหนังรุนแรงที่เรียกว่า กลุ่มอาการสตีเวนส์ จอห์นสัน เป็นต้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยที่เราไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่ามันจะเกิด กรณีนี้จะไม่เกี่ยวของกับกลไกการออกฤทธิ์ของยาโดยตรง ส่วนอาการข้างเคียงจากยานั้นเป็นสิ่งที่สามารถคาดการณ์ได้ว่าอาจจะเกิดเนื่องจากเราทราบว่ายาจะไปมีผลต่ออะไรบ้าง หรือไปทำงานอย่างไร หรือกล่าวได้ว่ามีความสัมพันธ์กับกลไกการออกฤทธิ์ของยา เช่น ง่วงนอนจากยาแก้แพ้/ยาทางจิตเวช ใจสั่น ไอ มึนงงจากยาลดความดัน เบื่ออาหาร คลื่นใส้ จากยาหลายรายการ เป็นต้น เพราะฉะนั้นในกรณีที่ผู้ป่วยมีการแพ้ยาเกิดขึ้นในครั้งแรกมันก็เป็นสิ่งที่เราไม่ได้จงใจให้มันเกิดขึ้น ไม่มีใครทราบเลยว่ายาตัวนี้ถ้าใครรับประทานเข้าไปแล้วจะมีอาการแพ้เกิดขึ้น ทั้งนี้ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีการตอบสนองต่อยานั้นๆ แตกต่างกันเพราะฉะนั้นในการแพ้ยาครั้งแรกจึงถือว่าไม่ใช่ความผิดหรือความบกพร่องของโรงพยาบาล ในขณะเดียวกันหากผู้ป่วยมีประวัติเคยแพ้ยามาก่อนและโรงพยาบาลก็มีข้อมูลการแพ้ยาของผู้ป่วยอยู่แล้ว หากมีการสั่งใช้ยาดังกล่าวแล้วเกิดการแพ้เกิดขึ้น จะเรียกว่าแพ้ยาซ้ำ อันนี้ถือว่าเป็นความคลาดเคลื่อนหรือบกพร่องของโรงพยาบาล อย่างไรก็ตามในกรณีที่ผู้ป่วยมีประวัติแพ้ยามาก่อน ไม่ได้เป็นผู้รับบริการเดิม เมื่อมารับบริการก็ไม่ได้แจ้งให้ทางโรงพยาบาลทราบ เมื่อมีการใช้ยาดังกล่าว แล้วเกิดการแพ้ซ้ำขึ้น ก็ต้องนับว่าโรงพยาบาลอาจปฏิบัติงานคลาดเคลื่อนที่ไม่มีการสอบถามผู้ป่วยทุกครั้งที่มารับบริการ และเช่นเดียวกันผู้รับบริการเองก็ไม่ได้ตระหนักถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจึงไม่ได้แจ้งทางโรงพยาบาล อันนี้ก็คงต้องว่าไปตามข้อมูลแต่ละครั้ง เห็นด้วยแล้วใช่ไหมครับว่า เมื่อไปรับบริการด้านการรักษาพยาบาล ไม่ว่าที่ใดก็ตาม ควรนำบัตรแพ้ยาติดตัวไปด้วย พร้อมกับแจ้งแพทย์ทุกครั้งด้วยหากสามารถทำได้ เพราะพึงระลึกเสมอว่า “แพ้ยาซ้ำ อาจตายได้”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น