Medtang

Custom Search

วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ถ้าแพ้อาหารทะเล จะแพ้ยาอะไรไหม

การแพ้อาหารทะเล เช่น กุ้ง ปู กั้ง หอย เกิดจากแพ้โปรตีนจากเปลือกสัตว์เหล่านั้น หรือโปรตีนที่อยู่ในเนื้อ ไม่ได้เกิดจากการแพ้ธาตุไอโอดีน การแพ้อาหารทะเลยังรวมความถึงการแพ้ปลาทะเลด้วย ซึ่งผู้ที่แพ้อาหารดังกล่าวเมื่อเกิดขึ้นครั้งหนึ่งควรหาสาเหตุให้ได้ว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับอาหารประเภทใด ผู้ที่แพ้อาหารทะเลประเภทปลา ก็ไม่เกี่ยวข้องกับแพ้อาหารทะเลประเภทกุ้ง ปู หอย เพราะอาจแพ้โปรตีนในกล้ามเนื้อที่ต่างประเภทกัน หรือแพ้โปรตีนในเปลือกกุ้ง ซึ่งก็ไม่พบในเนื้อปลา หรืออาจแพ้ทั้งสองประเภทร่วมกันได้ ปัจจุบันพบว่าผู้รับบริการที่มาโรงพยาบาลมีการรายงานการแพ้อาหารทะเลเพิ่มมากขึ้น และมีพบว่าเกิดการแพ้ซ้ำขึ้น สำหรับผู้ที่แพ้อาหารทะเลจึงควรระวังการใช้ยาที่ผลิตจากเปลือกของสัตว์ทะเลที่เป็นสาเหตุของการแพ้ เช่น ยากลูโคซามีน ซึ่งเป็นยารักษาข้อเข่าเสื่อม ช่วยเพิ่มน้ำในไขข้อ สกัดมาจากเปลือกสัตว์ทะเล จำพวก กุ้ง ปู จึงควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ที่แพ้อาหารทะเล หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ ที่มักมีส่วนประกอบของเปลือกสัตว์ทะเล เช่น มีส่วนประกอบของไคโตซานซึ่งเป็นสารโพลิเมอร์ชีวภาพที่สกัดจากไคติน เป็นโครงสร้างของเปลือกกุ้ง กระดองปู แกนปลาหมึก เป็นต้น ในกรณีหลังค่อนข้างเป็นปัญหาเพราะปัจจุบันมีการนำไคโตซานมาใช้กว้างขวางในหลายอุตสาหกรรม ในด้านการแพทย์มีการใช้ในการห้ามเลือด พลาสเตอร์ หรือเป็นอาหารเสริมสำหรับผู้ที่ต้องการ “ดักจับไขมัน” ในร่างกายเพื่อลดคอเลสเตอรอล หรือใช้ในทางเกษตร เช่น เร่งการเติบโตในพืช สัตว์ ใช้เคลือบผลไม้เพื่อยืดอายุการเก็บ หรือแม้แต่ในเครื่องสำอาง อย่างไรก็ตามข้อมูลผู้ที่แพ้อาหารทะเล หากใช้หรือเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ ไคติน-ไคโตซานจะเกิดอาการไม่พึงประสงค์ตามมาหรือไม่ ยังไม่มีการรายงานชัดเจน แต่อย่างที่กล่าวข้างต้นว่าการแพ้อาหารทะเลไม่ได้เกิดจากการแพ้ไอโอดีน ดังนั้นยาบางตัวที่มีไอโอดีนผสมอยู่ คนที่แพ้อาหารทะเลสามารถใช้ได้ เช่น ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ (อะมิโอดาโรน) ยารักษาไทรอยด์เป็นพิษแบบรุนแรง (โพแทสเซียม ไอโอไดด์) หรือสารทึบรังสี ที่มักใช้ในการตรวจทางรังสีวิทยา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น