การไปซื้อยาชุด โดยเฉพาะยาชุดแก้ปวดเมื่อย (ส่วนใหญ่มักจะประกอบด้วยยาหลายชนิดเช่น ยาแก้อักเสบกล้ามเนื้อ ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยาพวกสเตียรอยด์) มารับประทานเองนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ป่วยควรขอข้อมูลชื่อยาจากผู้ขาย (คงไม่ใช่เภสัชกร) เนื่องจากหากผู้ป่วยมีอาการแพ้ยาเกิดขึ้นหลังจากรับประทานยาชุดเหล่านั้นไปแล้ว เมื่อผู้ป่วยไปพบแพทย์หรือเภสัชกรพร้อมกับข้อมูลชื่อยาที่เป็นส่วนประกอบในยาชุดก็จะทำให้สามารถระบุได้ว่ายาใดน่าจะเป็นสาเหตุของการแพ้ยาดังกล่าว แต่เชื่อเถอะครับ ร้อยทั้งร้อยไม่ได้ขอ และขอก็ไม่ได้ ในทางกลับกันหากไม่มีข้อมูลใดเลยทราบแต่เพียงว่าผู้ป่วยรับประทานยาชุด แพทย์หรือเภสัชกรก็จะไม่สามารถระบุหรือแม้แต่จะสงสัยว่ายาใดที่เป็นสาเหตุของการแพ้ ก็แค่รักษาตามอาการไป ให้คำเตือน แต่วันดีคืนดีผู้ป่วยไปซื้อยาชุดมารับประทานอีก (อาจเป็นร้านใหม่หรือร้านเดิม) แล้วในยาชุดนั้นมียาตัวหนึ่งที่ผู้ป่วยแพ้แต่เราไม่ทราบในครั้งแรก ผู้ป่วยก็จะเกิดการแพ้ยาซ้ำซึ่งมักจะรุนแรงกว่าการแพ้ยาในครั้งแรกอาจถึงชีวิตได้ ขายยาชุดที่มีสเตียรอยด์ผิดกฎหมายนะครับ สามารถแจ้งตำรวจหรือกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคเอาผิดผู้ขายได้
ดังนั้นข้อเสนอแนะคือ หลีกเลี่ยงการหาซื้อยาชุดมารับประทาน เพราะว่าจะได้รับยาที่ไม่จำเป็น ไม่เกี่ยวข้องกับโรคหรืออาการโดยตรงปนเปเข้ามา ที่สำคัญคือมักมีการใส่ยาพวกสเตียรอยด์ ซึ่งมีชื่อว่า เพรดนิโซโลน และเด๊กซ่าเมธาโซน ยากลุ่มนี้เป็นยาบดบังอาการ รับประทานระยะแรก ๆ อาจรู้สึกดี แต่เป็นยาที่มีความเป็นพิษสูง เช่น กระเพาะอาหารทะลุ กระดูกผุ บวมน้ำ เกิดการสะสมของไขมัน โดยเฉพาะบริเวณต้นคอ น้ำตาลในเลือดสูง เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค โรคจิต หวาดระแวง เพิ่มความดันลูกตา ทำให้เป็นต้อหิน ต้อกระจก และหากใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจทำให้ตาบอดได้เช่นกัน เป็นต้น วิธีป้องกันง่าย ๆ คือเข้าร้านยาเมื่อใด เรียกหาเภสัชกร บอกเล่าอาการที่มาในวันนี้ ระบุว่าไม่ต้องการยาชุด และหากเคยแพ้ยา แพ้อาหารอะไรต้องแจ้ง หากไม่เข้าใจควรซักถามข้อมูลเพื่อความกระจ่าง
“ยาชุดทุกประเภท ล้วนก่อเหตุรุนแรง
โทษร้ายที่แอบแฝง เหมือนแมลงชอนไช
เริ่มจากหวาดวิตก ราวนรกหมกไหม้
กระดูกผุก่อนวัย หัวใจเหมือนรัวกลอง
ทั้งเสี่ยงต่อเบาหวาน หน้าบานใหญ่กว่าจ้อง
ต้อหินยิ่งหินกอง เลือดนองกระเพาะผุ
อาจแพ้จนถึงตาย ผิวกายก็เกรียมคุ
ใครขายจับเข้ากรุ ล่วงลุชดใช้กรรม”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น